‘สวนป่าเกดน้อมเกล้า’
“สวนป่าเกดน้อมเกล้า” ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ หนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวของโครงการสวนกลางมหานคร ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงต้องการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวบริเวณคุ้งบางกะเจ้า 6 ตำบล ได้แก่ ต.บาง น้ำผึ้ง ต.บางกอบัว ต.ทรงคนอง ต.บางกะเจ้า ต.บางกะสอบ และ ต.บางยอ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เพื่อให้เป็นปอดของคนกรุงเทพฯ
นางเปรมปรีย์ ไตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการป่าชุมชนทรงคนอง สะท้อนแนวคิดในการบริหารจัดการป่าชุมชนจำนวน 55 ไร่ ในพื้นที่หมู่ 2 และหมู่ 3 ต.ทรงคนอง หนึ่งในเป้าหมายของ การอนุรักษ์ให้เป็นพื้นที่สีเขียวว่า “เราต้องการให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ของชุมชน เพื่อให้วิถีชีวิตของชุมชนที่ อยู่ใกล้ป่ามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย”
ปัจจุบันชุมชน ต.ทรงคนอง ได้ดำเนินการ ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยาม บรมราชกุมารี ในการใช้ประโยชน์พื้นที่ในลักษณะเป็นชุมชนดั้งเดิม ที่มีการอนุรักษ์พันธุ์ไม้และวิถีชีวิตชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งมีความเป็นอยู่เรียบง่ายอย่างในอดีต มีการควบคุมสิ่งก่อสร้างอย่างเป็นระบบ รวมทั้งดูแลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
“เรามีห้องเรียนธรรมชาติเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับเยาวชน ใช้ศิลปะเป็น ตัวดึงดูด ซึ่งทำให้เด็กสนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น แล้วจะสอดแทรก เรื่องการสอนให้รู้จักพันธุ์ไม้แต่ละชนิด ทำให้เด็กได้รู้จักชุมชนของตัวเอง และได้ซึมซับถึงความสำคัญของป่าชุมชนว่าทำให้สิ่งแวดล้อมดี อากาศดี น้ำดื่มสะอาด สิ่งสุดท้ายคือมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีปอดที่แข็งแรง เรามีเป้าหมายสูงสุดในการที่จะรักษาป่าให้อยู่รอด คือ การผลักดันให้เรื่อง ป่าชุมชนเข้าบรรจุในหลักสูตรท้องถิ่นของสถาบันการศึกษา ตอนนี้ทางโรงเรียนที่ตั้งอยู่ชุมชนบางกะเจ้า สนใจให้เด็กนักเรียนเข้ามาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก” นางเปรมปรีย์ กล่าว
นอกเหนือจากความหวังสูงสุดในการได้บรรจุในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นการรักษาป่าให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืนแล้ว นางเปรมปรีย์บอกว่า การหารายได้เพื่อมาหล่อเลี้ยงป่าชุมชน ก็เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นชุมชนของเราจึงมองไปที่เรื่องของการท่องเที่ยว คือการจัดสวนป่าชุมชนให้สวยงาม สงบ ร่มรื่น สำหรับการเยี่ยมชมของนักท่องเที่ยวและมีกิจกรรมให้ผ่อนคลาย เช่น ขี่จักรยานชมสวน ชมวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรายได้ ที่หล่อเลี้ยงป่าชุมชนแห่งนี้จะมาจากการ ทำกิจกรรมของบริษัทเอกชนที่เห็นความสำคัญว่าป่าชุมชนเมืองแห่งนี้เป็นที่สร้างปอดให้กับคนเมืองนับสิบล้านคน ที่อยู่ในกรุงเทพฯ และได้ทยอยมาร่วมกันปลูกป่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายในป่าแห่งนี้มีพรรณไม้ต่าง ๆ หลากชนิด เช่น ต้นยางนา โกงกาง ตีนเป็ดน้ำ คูน สะเดา ขี้เหล็ก ใบยอ ใบเงิน มะยม มะขาม ฯลฯ
นายบัญชา โพธิ์แย้มจิตร สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลทรงคนอง กล่าวว่า ดีใจที่ทุกคนเริ่มเห็นความสำคัญของป่าชุมชนซึ่งเปรียบเสมือนบ้านของพวกเราทุกคนทั้งในเขตกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียง จากแรกเริ่มเราปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ
…แต่วันนี้ชุมชนเราสามารถรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการป่าชุมชนได้อย่างเข้มแข็ง และจากความสำเร็จนี้ทำให้ได้รับบทบาทเป็นผู้นำในการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ให้แก่กลุ่มและองค์กรต่าง ๆ ที่เข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง…
นับเป็นการจัดการป่าชุมชนโดยคนของชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ทำให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย และที่สำคัญนับเป็นต้นแบบของการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นอย่าง แท้จริง
ที่มา : http://www.dailynews.co.th